ต้นพญาสัตบรรณ






ชื่อสามัญ                   Devil Tree

ชื่อวิทยาศาสตร์         Alstonia scholaris

ตระกูล                        APOCYNACEAE

ชื่ออื่น                        ตีนเป็ดไทย

ลักษณะทั่วไป

พญาสัตบรรณเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดใหญ่มีความสูงประมาณ 12-20 เมตร

ผิวลำต้นมีสะเก็ดเล็กๆสีขาวปนน้ำตาลกรีดดูจะมียางสีขาว ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขามากลักษณะเป็นชั้น ๆ

ใบออกเป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่งช่อหนึ่งมีใบประมาณ 5-7 ใบ ก้านใบสั้น ใบสีเขียวถ้าเด็ดก้านใบจะมียางสีขาวลักษณะใบยาวรีปลายใบมนโคนใบแหลมขนาดใบยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร

ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือส่วนยอดของลำต้นดอกเป็นกลุ่มคล้ายดอกเข็ม ช่อหนึ่งจะมีกลุ่มดอกประมาณ 7 กลุ่มดอกมีสีขาวอมเหลืองผลเป็นฝักยาว ลักษณะเป็นเส้นๆ มีขุยสีขาวคล้ายฝ้ายปลิวไปตามลมได้ ในฝักมีเมล็ดเล็กๆ ติดอยู่กับขุยนั้น
การเป็นมงคล

    คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นสัตบรรณไว้ประจำบ้านจะทำให้มีเกียรติเพราะพญาสัตบรรณหรือฉัตรบรรณคือเครื่องสูงที่ใช้ในขบวนแห่เป็นเกียรติยศ และ พญา ก็คือ ผู้เป็นใหญ่ที่ควรยกย่อง เคารพนับถือ


  ดังนั้นพญาสัตบรรณจึงเป็นไม้มงคลนาม นอกจากนี้การเจริญเติบโตของทรงพุ่มมีลักษณะคล้ายกับฉัตรคือเป็นชั้นๆ และยังมีความเชื่ออีกว่าบ้านใดปลูกต้นพญาสัตบรรณไว้ประจำบ้านจะได้รับการยกย่องและนับถือจากบุคคลทั่วไปเพราะสัตคือสิ่งที่ดีงามมีคุณธรรมดังนั้นจึงเป็นที่เคารพนับถือและยกย่องของคนทั่วไป