ชื่อวิทยาศาสตร์: Bauhinia purpurea L.
ชื่อสามัญ: Purple Orchid Tree, Hong Kong Orchid
Tree, Purple Bauhinia
ชื่ออื่น: เสี้ยวดอกแดง (ภาคเหนือ), เสี้ยวหวาน
(แม่ฮ่องสอน)
วงศ์: LEGUMINOSAE-CAESALPINIOIDEAE
สมุนไพรชงโค มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ดอกตีนวัว, เสี้ยวหวาน
กะเฮอ สะเปซี(แม่ฮ่องสอน), เสี้ยวดอกแดง (ภาคเหนือ), ชงโค
เสี้ยวเลื่อย (ภาคใต้) เป็นต้น
โดยเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศจีนรวมไปถึงฮ่องกง
และทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ลักษณะของต้นชงโค
ชงโคเป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 5-15 เมตร กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม
ลักษณะของใบชงโคเป็นใบเดี่ยวคล้ายรูปหัวใจ ปลายของใบเว้าลึกมาก
ปลายใบทั้งสองด้านกลมมนดูคล้ายใบแฝดติดกัน (คล้ายๆกับใบกาหลง)
ส่วนลักษณะของผลจะเป็นฝักแบนคล้ายฝักถั่วกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร
ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร เมล็ดในฝักค่อนข้างแบน ฝักแก่จะแตกออกเป็นสองซีกตามความของฝัก
โดยเป็นต้นไม้ที่ผลัดใบในช่วงฤดูหนาว (ปลายปี)
แล้วจะผลิใบในช่วงเดือนเมษาถึงพฤษภาคม และเป็นต้นไม้ที่ชอบแสงแดด
การเพาะปลูกจึงนิยมปลูกในที่มีแสงแดดตลอดทั้งวัน
ประวัติต้นชงโค ชื่อของชงโคนั้นมาจากใบชงโคมีลักษณะเป็นใบแฝดติดกัน
คล้ายรอยเท้าวัว สำหรับบ้านเรายังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร
สาเหตุอาจมาจากชื่อที่ยังไม่ไพเราะ มีความหมายดีถูกใจคนไทยก็เป็นได้
แต่ถึงอย่างไรก็ตามต้นชงโคก็จัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง
เพราะสำหรับชาวฮินดูแล้วถือว่าต้นชงโคเป็นต้นไม้ของสวรรค์ที่อยู่ในเทวโลก
และยังนับถือว่าเป็นต้นไม้ของพระลักษมี (พระราชาของพระนารายณ์)
จึงควรค่าแก้การเคารพบูชาและปลูกไว้ในบริเวณบ้าน หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
ในฐานะต้นไม้ประดับ นอกจากนี้ยังเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆอีกหลายโรงเรียน
เช่น คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะวิศวกรรมศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา,
โรงเรียนเทพลีลา,
โรงเรียนปิยะบุตร์
ฯลฯ !
ชงโคฮอลแลนด์ หรือ ชงโคออสเตรเลีย เป็นลูกผสมระหว่าง
“ชงโค” กับ “เสี้ยว” เป็นชื่อที่ตั้งมาใช้ในทางการค้า
เพื่อเพิ่มความน่าสนใจช่วยทำให้ซื้อง่ายขายคล่อง
และไม่ได้เป็นพันธุ์ไม้ที่มาจากประเทศฮอลแลนด์หรือออสเตรเลียหรือมีความเกี่ยวข้องกันแต่อย่างใด
โดยจะมีความแตกต่างกับชงโคทั่วไป โดยจะมีลักษณะเด่นตรงที่มีขนาดของดอกที่ใหญ่กว่า
กลีบดอกใหญ่กว่า มีสีสันสดใสกว่าเล็กน้อย
ประโยชน์ของชงโค
- ใบชงโคนำไปต้มช่วยรักษาอาการไอได้ (ใบ)
- ช่วยแก้พิษไข้ร้อนจากเลือดและน้ำดี (ดอก)
- ชงโคสรรพคุณใช้เป็นยาระบาย (ดอก,ราก)
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้บิด (ดอก,แก่น,เปลือกต้น)
- ช่วยขับลมในกระเพาะ (ราก)
- ช่วยขับปัสสาวะ (ใบ)
- ใบชงโคใช้พอกฝี และแผลได้ (ใบ)
- ประโยชน์ของชงโค มักปลูกไว้เป็นไม้ดอกไม้ประดับบ้านและสวน เพื่อความสวยงาม ให้กลิ่นหอมชื่นใจ