ต้นพิกุล




ชื่อสามัญ               Bullet Wood

ชื่อวิทยาศาสตร์     Mimusops elengi Linn.

ตระกูล                  SAPOTACEAE

ชื่ออื่น                   ไกรทอง

ลักษณะทั่วไป

พิกุลทองเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 8-15 เมตร ผิวเปลือกสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกบางๆ ตามยาว ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแน่นกว้างเป็นทรงกลม ใบออกเรียงสลับกัน ใบมนรูปไข่ปลายแหลม ลักษณะโคนใบมนสอบ ขอบใบโค้งเป็นคลื่นเล็ก ใบเป็นมันสีเขียว ขนาดใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ออกดอกเป็นกระจุกตามง่ามใบ หรือยอด มีกลีบดอกประมาณ 8 กลีบเรียงซ้อนกัน กลีบดอกเป็นจักรเล็กน้อย ดอกเล็กสีขาวนวลมีกลิ่นหอมมาก ผลรูปไข่หรือกลมรี ผลแก่มีสีแสดเนื้อในเหลืองรสหวาน ภายในมีเมล็ดเดียว ขนาดผลกว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร
การเป็นมงคล

คนไทยโบราณเชื่อว่าบ้านใดปลูกต้นพิกุลทองไว้ประจำบ้านจะทำให้มีอายุยืน เพราะโบราณเชื่อว่าต้นพิกุลทองเป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานและมีอายุยาวนาน ดังนั้นจึงนิยมใช้เนื้อไม้นำมาใช้ประโยชน์ในงานพิธีมงคลได้เป็นอย่างดี เช่นด้ามหอกที่ใช้เป็นอาวุธ เสาบ้าน พวงมาลัยเรือ และยังมีความเชื่ออีกว่าต้นพิกุลทองเป็นต้นไม้ที่มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ เพราะโบราณเชื่อว่าเป็นไม้ที่มีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่

ตำแหน่งที่ปลูกและผู้ปลูก

เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย ควรปลูกต้นพิกุลทองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผู้ปลูกควรปลูกในวันจันทร์หรือวันเสาร์ เพราะคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์ ถ้าจะให้เป็นสิริมงคลแก่ตัวเองผู้ปลูกควรเป็นสุภาพสตรี เพราะพิกุลเป็นชื่อที่เหมาะสำหรับสุภาพสตรี

การปลูก

ขยายพันธุ์โดยการตอนกิ่ง เพาะเมล็ด หรือปักชำกิ่ง

การดูแลรักษา

แสง                  ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
น้ำ                    ต้องการปริมาณน้ำน้อย ควรให้น้ำ 7-10 วัน/ครั้ง อายุประมาณ 4 ปี สามารถทนต่อสภาพธรรมชาติได้
ดิน                   ชอบดินร่วนซุย มีความชื้นน้อยถึงปานกลาง
ปุ๋ย                   ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2-3 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 4-6 ครั้ง
การขยายพันธุ์   การตอน การเพาะเมล็ด วิธีที่นิยมและได้ผลดี คือ การเพาะเมล็ด
โรค                 ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะเป็นไม้ที่ทนทานต่อสภาพธรรมชาติพอสมควร
ศัตรู                หนอนเจาะลำต้น (Stem boring caterpillars)
อาการ              ลำต้นหรือกิ่งเป็นรู เป็นรอย ต่อมาใบแห้งเหี่ยว
การป้องกัน       รักษาความสะอาดบริเวณแปลงปลูก หรือกำจัดแมลงพาหะใช้ยาเช่นเดียวกับการกำจัด
การกำจัด         ใช้ยาไดเมทโธเอท หรือ เมโธมิล อัตราและคำแนะนำระบุไว้ตามฉลาก

ประโยชน์ทางยา
ส่วนที่ใช้เป็นยา

ใบ ดอก เมล็ด เปลือกต้น กระพี้ แก่น ราก

ช่วงเวลาเก็บ
ดอกออกตลอดปี ดอกพิกุลส่วนใหญ่เก็บเฉพาะกลีบดอกที่ร่วงหล่นตามโคนต้น ล้างทำความสะอาดแล้วตากแห้ง ใช้เป็นยาหรือเครื่องหอมได้รสและสรรพคุณในตำรายาไทย
1. ใบ รสเบื่อฝาด ฆ่าเชื้อกามโรค แก้หืด
2. ดอก รสหอมสุขุม แก้ลมบำรุงโลหิต
3. เมล็ด รสเฝื่อน ขับปัสสาวะ
4. เปลือกต้น รสฝาด ฆ่าแมงกินฟัน (ฟันผุ) แก้เหงือกอักเสบ
5. กระพี้ รสเมาเบื่อ แก้เกลื้อน
6. แก่น รสขมเฝื่อน บำรุงโลหิต แก้ไข้
7. ราก รสขมเฝื่อน บำรุงโลหิต แก้เสมหะ แก้ลม

ขนาดและวิธีใช้
              1. แก้ปวดฟัน ฟันโยกคลอน ใช้เปลือกต้นต้มกับเกลือแล้วนำมาอม
2. แก้ไข้ ปวดหัว เจ็บคอ ใช้ดอกแห้งป่นทำยานัตถุ์

สารสำคัญ
ในดอกมีน้ำมันหอมระเหย saponin และ alkaloid

การทดลองทางคลีนิค
น้ำสกัดดอกพิกุลแห้งมีฤทธิ์ทางขับปัสสาวะในสุนัขที่สลบ และทำให้ความดันโลหิตลดลง การเต้นของหัวใจลดลง แม้ว่าจะนำน้ำสกัดดอกพิกุลที่เอาเกลือโพแทสเซียมออกไปทดลองขับปัสสาวะในสุนัข หนูขาวปกติ และหนูขาวที่ตัดต่อมหมวกไตออก ก็ยังมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ และฤทธิ์ของน้ำคั้นดอกพิกุลไม่แตกต่างจาก spironolactone เมื่อทดลองในหนูที่ตัดต่อมหมวกไตออก

ประโยชน์อื่น

เนื่องจากพิกุลเป็นไม้ขนาดใหญ่ บางประเทศใช้เนื้อไม้ในการก่อสร้าง เช่น ขุดเรือทำสะพาน ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องดนตรี เป็นต้น ลำต้นมักมีเชื้อราทำให้เป็นโรคเนื้อไม้ผุ และมักโค่นล้มง่าย เมื่อมีพายุ ในต้นที่มีอายุมากบางต้นพบว่าเนื้อไม้มีกลิ่นหอม เรียกว่า ขอนดอกเชื่อกันว่าเกิดจากเชื้อราบางตัว ขอนดอกก็นำมาเป็นส่วนประกอบของยาหอมได้เช่นเดียวกับดอกพิกุล