ชื่อวิทยาศาสตร์ :Syzygium cumini
(L.) Skeels
ชื่อวงศ์
: MYRTACEAE
ชื่อสามัญ
:Black Plum , Jambolan , Satin ash, Java lum
ชื่ออื่น
: มะห้า ห้าขี้แพะ ห้า
นิเวศวิทยา
ถิ่นกำเนิด เอเชียเขตร้อน อินเดีย พม่า
มาเลเซียและไทย ประเทศไทยพบได้ทั่วไป
โดยเฉพาะตามพื้นที่ชุ่มน้ำ ดินอุดมสมบูรณ์หรือพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น
แม่น้ำ ลำธาร หนอง
คลอง บึง
การขยายพันธุ์ เมล็ด
ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 15 - 25
เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดรูปไข่ หรือรูปทรงกลม ลำต้นเปลาตรง
จะแตกกิ่งก้านที่ความสูง 2 - 4 เมตร โคนต้นเป็นพูพอนเล็กน้อย
กิ่งก้านสาขาจะแผ่ออกมาทางด้านข้าง ทรงพุ่มหนาทึบ เนื้อไม้แข็ง
เปลือก สีน้ำตาลอมเทาถึงเทาคล้ำ
ค่อนข้างเรียบมีรอยแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ ทั่วไป
ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงกันข้าม
รูปรีหรือรูปไข่กลับขอบใบเรียบปลายใบมนแหลม โคนใบมน ผิวใบเป็นมันเรียบ
เส้นใบแตกแขนงออกจากเส้นกลางใบค่อนข้างเป็นระเบียบและระยะห่างใกล้เคียงกัน
มีต่อมน้ำมันกระจายอยู่ทั่วไป กว้าง 5
- 7 เซนติเมตร ยาว 14 - 16 เซนติเมตร ก้านใบยาว 1.0 - 1.5
เซนติเมตร ใบปลายกิ่งจะเป็นคู่
ดอก สีขาว
ขนาดเล็ก ออกเป็นช่อตามซอกใบระหว่างโคนก้านใบกับกิ่ง และปลายกิ่ง
ช่อดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง
มีช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม กลีบเลี้ยงรูปถ้วยปลายแผ่แยก
ออกเป็น 4
กลีบ ยาว 0.3 - 0.4 เซนติเมตร กลีบดอก 4 กลีบ
ดอกตูมจะมีเยื่อบาง ๆ หุ้ม
และหลุดออกเมื่อดอกบาน ดอกบานเต็มที่กว้าง 1.0
- 1.5 เซนติเมตร
มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก
ช่อดอกเมื่อบานมีลักษณะคล้ายร่ม มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ
ออกดอกในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์
ผล ผลสดมีเนื้อ รูปทรงกระบอก หรือรูปขอบขนาน
กว้าง 1.0 - 1.5 เซนติเมตร ยาว
1.5 – 2.0 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวผิวเรียบเป็นมัน
ผลแก่สีแดงและเปลี่ยน
เป็นสีม่วงเกือบดำเมื่อสุก เนื้อในมีสีม่วงเข้ม
รสหวานอมเปรี้ยวและฝาดเล็กน้อย
ภายในผลมีเมล็ด 1
เมล็ด
เมล็ด
ขนาดเล็กกว่าผลเล็กน้อย รูปทรงกระบอกหรือขอบขนานสีเหลืองอมน้ำตาลเปลือกแข็ง
เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งปลูกสร้าง
เครื่องเรือน และเครื่องมือการเกษตร เปลือกแก้โรคบิด ท้องร่วง ล้างแผล
ใบตำแก้ปากคอเปื่อย ลิ้นและคอเป็นเม็ด
น้ำลายเหนียว ผลสุกรับประทานได้ มีรสหวานอมเปรี้ยวและฝาด
ปัจจุบันมีผู้นำผลสุกของหว้าไปแปรรูปเป็นน้ำผลไม้และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไวท์
เมล็ดใช้ถอนพิษจากเมล็ดแสลงใจ
(โกฐกะกลิ้ง)
หว้าเป็นพรรณไม้ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติในตอนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่าเมื่อพระเจ้าสุทโทธนะ
เสด็จไปทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญได้นำเจ้าชายสิทธัตถะไปด้วย
และให้ประทับอยู่ที่ใต้ต้นหว้าใหญ่
บรรดาพระพี่เลี้ยงต่างก็ไปดูพิธีแรกนาขวัญกันหมด
พระกุมารจึงนั่งสมาธิกรรมฐาน
มีเหตุที่น่าอัศจรรย์แม้ว่าตะวันจะคล้อยบ่ายแล้ว
แต่ร่มเงาของต้นหว้าก็ยังไม่ขยับเขยื้อนเปลี่ยนทิศทาง
คงปิดบังให้ความร่มเย็นแก่พระองค์
โดยปรากฏเป็นปริมณฑลอยู่ประดุจเงาของตะวันตอนเที่ยงตรง
เนื่องจากหว้าเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่เจริญเติบโตรวดเร็ว และขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกสภาพ
จึงไม่ควรนำไปปลูกภายในบริเวณบ้านที่มีพื้นที่เล็กน้อยหรือไม่ควรปลูกให้ใกล้ชิดกับบ้านมากเกินไป
เหมาะที่จะปลูกกลางสนาม
หรือพื้นที่กลางแจ้งที่มีเนื้อที่มาก ๆ หรือปลูกริมถนนทางเดิน
สวนสาธารณะเพื่อใช้ประโยชน์จากร่มเงาได้เต็มที่
หว้าเป็นไม้ที่ออกลูกติดผลได้ง่ายและดก
เหมาะที่จะปลูกเป็นสวนป่า
เพื่อเป็นอาหารของนกและสัตว์นานาชนิด