ต้นราชพฤกษ์





ชื่อวิทยาศาสตร์ :   Cassia fistula  L.

ชื่อสามัญ :    Golden shower, Indian laburnum, Pudding - pine tree

วงศ์ :   LEGUMINOSAE - CAESALPINIOIDEAE

ชื่ออื่น :   กุเพยะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ (ภาคกลาง) ปือยู ปูโย เปอโซ แมะหล่าหยู่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ลมแล้ง (เหนือ)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้ต้นขนาดกลาง ลำต้นสีน้ำตาลแกมเทาเกลี้ยงๆ ชอบขึ้นตามป่าผลัดใบ หรือในที่ดินที่มีการถ่ายเทน้ำได้ดี ใบ เป็นใบช่อสีเขียวเป็นมัน ช่อหนึ่งๆ ยาวประมาณ 2.5 ซม. มีใบย่อยรูปป้อมๆ หรือรูปไข่ 3-6 คู่ ใบย่อยกว้างๆ 5-7 ซม. ยาว 9-15 ซม. โคนใบมนและค่อยๆ สอบไปทางปลายใบ เนื้อใบเกลี้ยงค่อนข้างบาง เส้นแขนงใบถี่ และโค้งไปตามรูปใบ ดอก ออกเป็นช่อ ยาว 20-45 ซม. กลีบรองกลีบดอกรูปขอบขนานยาวประมาณ 1 ซม. มี 5 กลีบ มักหลุดร่วงง่าย กลีบดอกยาวกว่ากลีบรองกลีบดอกประมาณ 2-3 เท่า และมีกลีบรูปไข่กลับ 5 กลีบ ตามพื้นกลีบจะเห็นเส้นกลีบชัดเจน เกสรผู้มีขนาดแตกต่างกันจำนวน 10 อัน ก้านอับเรณูโค้งงอขึ้น ผล เป็นฝักรูปทรงกระบอกเกลี้ยงๆ อาจยาวถึง 50 ซม. โตวัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.0-2.5 ซม. ฝัก อ่อนสีเขียวและออกสีดำเมื่อแก่จัด ในฝักจะมีผนังเยื่อบางๆ กั้นเป็นช่องๆ ตามขวางของฝัก และตามช่องเหล่านี้จะมีเมล็ดแบนๆ สีน้ำตาลอยู่

ส่วนที่ใช้ : ใบ ดอก เปลือก แก่น ราก ฝักแก่ เปลือกเป็นสีน้ำตาลเข้ม กระพี้ เมล็ด
สรรพคุณ :

ใบ  -   ขับพยาธิ

ดอก - แก้บาดแผลเรื้อรัง

เปลือก  -  บำรุงโลหิต


กระพี้ -  แก้โรครำมะนาด

แก่น -  ขับไส้เดือนในท้อง

ราก -  แก้ไข้ แก้โรคคุดทะราด

เมล็ด - รักษาโรคบิด

ฝักแก่ - รสหวานเอียนเล็กน้อย เป็นยาระบายถ่ายสะดวกไม่มวนไม่ไซ้ท้อง มีสารแอนทราควิโนน (Anthraquinone glycoside) เป็นตัวยาระบาย

วิธีและปริมาณที่ใช้ : โดยเอาเนื้อในฝักแก่ก้อนเท่าหัวแม่มือ (ประมาณ 4 กรัม) น้ำ 1 ถ้วยแก้วต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ดื่มก่อนนอนหรือตอนก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว

          เหมาะเป็นยาระบายสำหรับคนที่ท้องผูกเป็นประจำและสตรีมีครรภ์