ต้นหูกระจง




ชื่ออื่นๆ : หูกวางแคระ , แผ่บารมี

ชื่อสามัญ : Ivory Coast almond, Black Afara, Idigbo (Nigeria), Emeri (Ghana), Framire (Ivory Coast) Black afara

ชื่อวิทยาศาสตร์ : TERMINALIA IVORENSIS CHEV.

วงศ์ : COMBRETACEAE

ถิ่นกำเนิด : มีถิ่นกำเนิดในป่าแอฟริกาตะวันตก แถบเส้นศูนย์สูตร ตั้งแต่ประเทศกีนี ไปจนถึงประเทศแคเมอรูน

ลักษณะทั่วไป : ไม้ต้นขนาดกลาง ผลัดใบ เรือนยอดรูปไข่ หนาทึบ เปลือกสีน้ำตาลแตกเป็นร่อง สีน้ำตาลอมเหลือง แตกกิ่งในแนวราบเป็นชั้นๆคล้ายฉัตร เป็นไม้ที่มีการเจริญเติบโตเร็ว และมีอายุยืน เป็นไม้ที่มีทรงพุ่มสวยงามแตกกิ่งเป็นชั้น ๆ แต่ละชั้นห่างกันประมาณ 50-100 ซม.ชอบน้ำเมื่อนำไปปลูกในกระถางหรือลงดินแล้วรดน้ำให้ชุ่ม และสม่ำเสมอใบแทบจะไม่ร่วงเลย สำหรับดอกมีสีขาวคล้ายดอกกระถินณรงค์ เมล็ดหูกระจงจะคล้ายกับเมล็ดพุทรา
        ต้นหูกระจง ที่พบในประเทศไทยมีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ หูกระจงธรรมดา หูกระจงหนาม และหูกระจงแคระ หูกระจงธรรมดาได้รับความนิยม ซื้อไปปลูกเป็นไม้ประดับมากที่สุด ทั้งๆ ที่หูกระจงหนามมีทรงพุ่มที่สวยกว่า และใบของต้นหูกระจงหนามจะเป็นเงา และแน่นกว่า เหมาะที่จะปลูกเป็นไม้กระถาง เหตุผลที่สำคัญที่คนสนใจปลูกต้นหูกระจงหนามไม่มาก เนื่องจากความเชื่อเรื่องหนามที่ไม่เป็นมงคลต่อผู้ปลูก สำหรับหูกระจงแคระ เป็นหูกระจงที่หายากกว่าหูกระจงสายพันธุ์อื่น ราคาก็ยิ่งแพง

ฤดูการออกดอก : ออกดอกช่วงเดือน ก.พ. เม.ย

การขยายพันธุ์ : การเพาะเมล็ด

ข้อดีของพันธุ์ไม้ : ปลูกประดับสวน อาคาร ให้ร่มเงา ริมถนน ลานจอดรถ ปลูกในพื้นที่กว้าง เช่น สวนสาธารณะ

ข้อแนะนำ : ขึ้นได้ในดินทั่วไป หากต้องการปลูกต้นหูกระจงในบริเวณบ้านนั้น ควรปลูกให้ห่างตัวบ้าน เนื่องจากต้นหูกระจงมีระบบรากแข็งแรง จึงอาจส่งผลกระทบกับตัวบ้านได้ นอกจากนี้ การขยายพันธุ์ต้นหูกระจงนิยมใช้วิธีเพาะเมล็ดมากที่สุดอีกด้วย เพราะต้นหูกระจงจะเติบโตได้เร็ว

ข้อมูลอื่นๆ : ที่ตั้งชื่อว่า หูกระจงเป็นเพราะลักษณะใบคล้ายกับหูกวาง แต่ใบหูกระจงจะมีขนาดเล็กกว่า