ต้นเสลาใบใหญ่







ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lagerstroemia loudonii  Teijsm. & Binn.

วงศ์ : LYTHRACEAE

ชื่อสามัญ :

ชื่ออื่น : เกรียบ ตะเกรียบ (chong-จันทบุรี) ตะแบกขน (นครราชสีมา) อินทรชิต (ปราจีนบุรี) เสลาใบใหญ่ (ประจวบคีรีขันธ์ , สระบุรี)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :  ไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่  ผลัดใบ สูง 10-20 เมตร เปลือกขรุขระ หนาประมาณ 1 ซม. จะแตกเป็นร่องๆ ตามยาว มีสีเทาเข้มถึงเทาดำ เปลือกในสีม่วง เรือนยอดเป็นพุ่มรูปทรงกระบอกหรือเป็นพุ่มกลม แน่นทึบ สีเขียวเข้ม โคนกิ่งใหญ่ซึ่งแตกจากลำต้นทำมุมแคบขึ้นข้างบน แต่ปลายกิ่งจะห้อยย้อยลง ซึ่งบางทีทำให้ทรงพุ่มเป็นรูปร่มกลายๆ ใบ เป็นชนิดใบเดี่ยว ออกตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ทรงใบรูปขอบขนาน กว้าง 4-6 ซม. ยาว 12-24 ซม. เนื้อใบหนา มีขนสีเหลืองนุ่มๆ ทั้งสองด้าน โคนใบมน ส่วนปลายใบหยักคอดเป็นติ่งแหลมสั้นๆ ขอบใบเรียบ ก้านใบยาวไม่เกิน 1 ซม. มีขนประปราย ดอก โต สีม่วงสด เมื่อบานเต็มที่กว้าง 6-8 ซม. จะรวมกันเป็นช่อยาวๆ และค่อนข้างชิดแน่นตามปลายกิ่งและตามง่ามใบตอนใกล้ๆ ปลายกิ่ง โคนกลีบของกลีบฐานดอกจะติดกันเป็นรูปกรวยหงายหรือรูปถ้วย มีขนสีเหลืองนุ่มปกคลุมทางด้านนอก ส่วนด้านในเกลี้ยง มีสันนูนตามยาวแต่ไม่ชัดเจน ปลายกลีบฐานดอกจะหักพับกลับมาทางก้านผล ทั้งกลีบดอกและกลีบ,ฐานดอกมีจำนวนไม่คงที่ มักจะมี 6 , 7  หรือ 8 กลีบ ตามโอกาส กลุ่มเกสรผู้จะแยกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มก้านเกสรสั้น กับกลุ่มก้านเกสรยาว รังไข รูปไข่ มีขนนุ่มๆ คลุม ภายในแบ่งเป็น 5 (- 6) ช่อง แต่ละช่องมีไข่อ่อนมาก ผล เป็นชนิดผลแห้ง รูปไข่ มีขนประปราย ยาว 1.5-2 ซม. ผลแก่จะแตกอ้าออกด้านบน 5 (- 6) เสี่ยง เมล็ดเล็ก มีมาก แต่ละเมล็ดจะมีปีกบางๆ และโค้งๆ ติดทางด้านบนหนึ่งปีก
          ระยะการออกดอกเป็นผล เสลาใบใหญ่ จะเริ่มผลัดใบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป เวลาผลัดใบมักจะทิ้งใบหมด ช่อดอกจะเริ่มบานติดต่อกันไป ระหว่างเดือน มีนาคม-เมษายน ผลจะแก่เต็มที่ประมาณเดือนพฤศจิกายน หลังจากนั้นจะแตกออกเพื่อโปรยเมล็ดต่อเนื่องกันไปจนถึงเวลาผลัดใบใหม่  เสลาใบใหญ่เป็นไม้เดิมของป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ และป่าชายหาด ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศ ที่สูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 30-40 เมตร การขยายพันธุ์นิยมใช้เมล็ดเพาะ

ประโยชน์ :  ปลูกเป็นไม้ประดับ เนื้อไม้ ใช้ทำเครื่องกลึง เครื่องแกะสลัก ด้ามเครื่องมือ ทำพื้น รอด ตง คาน ได้ดี