ต้นลิ้นฟ้า




ชื่อสมุนไพร : เพกา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Oroxylum indicum (L.) Kurz
ชื่อสามัญ : Broken Bones Tree
วงศ์ : Bignoniaceae
ชื่ออื่น : มะลิดไม้ มะลิ้นไม้ ลิดไม้ (เหนือ) ลิ้นฟ้า (เลย) หมากลิ้นก้าง หมากลิ้นซ้าง (ฉาน-เหนือ) กาโด้โด้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ดอก๊ะ ด๊อกก๊ะ ดุแก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เบโก (มาเล-นราธิวาส)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของเพกา
เพกาหรือลิ้นฟ้า เป็นไม้ต้น สูง 3-12 เมตร เปลือกลำต้นเรียบ มีสีเทา แตกกิ่งก้านน้อย
ลักษณะใบเพกา เป็นใบประกอบแบบขนนกสามชั้น ขนาดใหญ่ เรียงตรงข้ามรวมกันอยู่บริเวณปลายกิ่ง ใบย่อยรูปไข่หรือรูปไข่แกมวงรี กว้าง 4-8 ซม. ยาว 6-12 ซม.
ดอกเพกา ดอกช่อจะออกที่ปลายยอด ก้านช่อดอกยาว ดอกย่อยขนาดใหญ่ มี 20-35 ดอก กลีบดอกสีนวลแกมเขียว โคนกลีบเป็นหลอดสีม่วงแดง หนาย่น บานกลางคืน
ผลเพกา เป็นฝักแบนยาว รูปดาบ เมื่อแก่จะแตก ภายในมีเมล็ดแบนจำนวนมาก สีขาว มีปีกบางโปร่งแสง
ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ให้ได้ต้นกล้าสูง 30-50 ซม. แล้วปลูกในหลุมดินร่วนซุยลึกประมาณ 50-70 ซม. กลบดินให้แน่น แล้วรดน้ำให้ชุ่ม เจริญงอกงามดีหากปลูกในฤดูฝน เมื่อต้นเจริญเติบโตดีแล้ว ไม่ต้องดูแลเท่าไหร่

การใช้เป็นอาหาร
ยอดออนและฝักอ่อนมีรสขม นิยมเผาหรือลวกสุก จะทำให้ความขมลดลง เผาแล้วขูดเอาผิวออกให้หมด รับประทานกับน้ำพริกต่างๆ เมล็ดเพกา ใช้เป็นส่วนประกอบในน้ำจับเลี้ยง ที่คนจีนนิยมดื่มกัน ข้อควรระวัง ถ้ากินมากอาจทำให้เป็นต้อเนื้อที่ดวงตา

คุณค่าทางโภชนาการ
ผลเพกา (ฝักอ่อน) ในส่วนที่กินได้ น้ำหนัก 100 กรัม ให้ไขมัน 0.51 กรัม คาร์โบไฮเดรต 14.3 กรัม โปรตีน 0.23 กรัม เส้นใย 4.3 กรัม แคลเซียม 13 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 4 มิลลิกรัม วิตามินเอ 8,221 หน่วย วิตามินซี 484 มิลลิกรัม
มีประโยชน์ช่วยป้องกันมิให้เซลล์ร่างกายแก่เร็วเกินไป ปกป้องอนุมูลอิสระมิให้เกิดขึ้นในร่างกาย อันเป็นผลทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งได้ หากรับประทานร่วมกับอาหารที่มีวิตามินอีสูงๆ เช่น รำข้าวในข้าวกล้อง ช่วยเสริมฤทธิ์ในการป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระในร่างกายได้อย่างสมบูรณ์อีกด้วย
ในยอดอ่อน 100 กรัม พบว่าให้พลังงาน 101 กิโลแคลอรี โปรตีน 6.4 กรัม ไขมัน 2.6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 13.0 กรัม วิตามินบี1 0.18 มิลลิกรัม วิตามินบี2 0.69 มิลลิกรัมและวิตามินบี3 2.4 มิลลิกรัม นอกนั้นเป็นเถ้าและน้ำ
ในผลเพกามีวิตามินเอสูงช่วยบำรุงสายตา เหมาะกับคนที่ขาดวิตามินเอ และมีเส้นใยอาหารมาก ช่วยการขับถ่ายให้เป็นปกติ ทั้งเส้นใยยังช่วยลดการดูดซึมไขมันและน้ำตาลเข้าสู่กระแสโลหิต
เรื่องน่ารู้
ถ้าใส่เปลือกต้นเพกา ลงในอาหารจะแก้เปรี้ยว แก้เผ็ดได้ ใส่เปลือกต้นเพกาผสมกับมะนาว มะนาวก็ไม่เปรี้ยว
มีสมุนไพรไม่มากนักที่มีรสขม แต่สามารถนำมาปรุงกินเป็นอาหารที่หลากหลายได้เหมือนเพกา นับเป็นสมุนไพรคู่บ้านคู่เรือนคนไทยมานานแสนนาน โดยไม่ต้องลงมือปลูก ด้วยสรรพคุณที่มีคุณค่าเกินกว่าใครจะมองข้าม ทั้งช่วยป้องกัน บำรุง รักษาสรรพโรค ทั้งยังเป็นอาหารต้านมะเร็งที่น่าสนใจ คนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยชิมรสชาติของเพกา น่าจะหาโอกาสลองสักครั้ง นอกจากจะเสริมภูมิคุ้นกันให้ร่างกายแล้ว จะได้เสริมภูมิความรู้ที่หาได้จากปลายลิ้นด้วย
เปลืกต้น ดอก ผล เพกา

ส่วนที่ใช้เป็นยา : ราก เปลือกต้น ฝักอ่อน เมล็ด

ประโยชน์และสรรพคุณของเพกา
ราก
- มีรสฝาดเย็น ขมเล็กน้อย ใช้บำรุงธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร เจริญอาหาร
- แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ไข้สันนิบาต
- ใช้ภายนอก รากฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้อาการอักเสบ ฟกบวม
เพกาทั้ง 5 คือการใช้ส่วนราก ใบ ดอก ผล ต้น รวมกันจะมีรสฝาดเย็น มีสรรพคุณสมานแผล แก้อักเสบบวม แก้ท้องร่วง บำรุงธาตุ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้ไข้เพื่อลม เพื่อเลือด
ฝักอ่อน ใช้รับประทานเป็นผัก ช่วยในการขับผายลม ขับเสมหะ บำรุงธาตุ
เมล็ด ใช้เป็นยาถ่าย เมล็ดแก่ใช้เป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ  โดยต้มเมล็ด 1 กำมือ กับน้ำ 300 ซีซี. จนเดือด ให้เนื้อยาออกมา ดื่มวันละ 3 ครั้ง
เปลือกต้น รสฝาดเย็น และขมเล็กน้อย เป็นยาสมานแผล ทำน้ำเหลืองให้เป็นปกติ ขับน้ำเหลืองเสีย ขับเลือดดับพิษโลหิต บำรุงโลหิต แก้เสมหะจุกคอ ขับเสมหะ แก้บิด แก้อาการจุกเสียด
เปลือกต้นตำผสมกับสุรา
  • ใช้เป็นยากวาดประซะพิษซางเด็กชนิดเม็ดเหลือง
  • แก้ละองขึ้นในปาก คอลิ้น แก้ละอองไข้
  • ใช้ฉีดพ่นตามตัวคนคลอดบุตรที่ทนการอยู่ไฟไม่ได้ ทำให้ผิวหนังชา
  • ทารอบ ๆ ฝี แก้ปวดฝีทาแก้อาการฟกบวมอักเสบ
เปลือกต้นสดตำผสมกับน้ำส้ม ซึ่งได้จากรังมดแดงหรือเกลือสินเธาว์
  • รับประทานขับลมในลำไส้ แก้จุกเสียด แก้บิด แก้อาเจียนไม่หยุด
  • รับประทานแก้เสมหะจุกคอ (ขับเสมหะ) ขับเลือดเน่าในเรือนไฟ บำรุงโลหิต
นอกจากนี้เปลือกเพกา ใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่น แก้เบาหวาน แก้โรคมานน้ำ เปลือกต้มรวมกับสมุนไพรหลายชนิด แยกเอาน้ำมันมาทาแก้ องคสูตร แก้ริดสีดวงทวารหนัก ทวารเบา แก้ฟกบวม แก้คัน

เพกา ผักพื้นบ้านต้านมะเร็ง
จากความเชื่อของคนโบราณที่บอกว่ากินฝักเพกาแล้วจะทำให้ไม่เจ็บป่วยนั้น มีรายงานการศึกษาที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งคือ การวิจัยผักพื้นบ้านไทยของคุณเกศินี ตระกูลทิวากร จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อดูว่าผักพื้นบ้านชนิดใดบ้างที่มีคุณสมบัติในการต้านการก่อมะเร็งจากผักทั้งหมด 48 ชนิด เพกาเป็นผักใน 4 ชนิดที่มีฤทธิ์ต้านการก่อมะเร็งสูงสุด ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลย เนื่องจากในฝักเพกามีวิตามินสูงมากตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และยังมีวิตามินเอ 8,221 มิลลิกรัม ใน 100 กรัม พอๆ กับตำลึงทีเดียว เช่นเดียวกับการศึกษาพืชสมุนไพรในบังคลาเทศ พบว่าในพืชสมุนไพรพื้นบ้าน 11 ชนิด เพกาแสดงฤทธิ์ต้านมะเร็งทุกชนิดสูงสุด รองลงไปคือมะตูม

สรรพคุณทางวิทยาศาสตร์การแพทย์
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า สารสกัดฟลาโวนอยด์ที่ได้จากเปลือกต้นเพกา มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ การแพ้ (anti-inflammatory and anti-allergic) ทั้งมีฤทธิ์ยับยั้งการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบของหนูตะเภาในหลอดทดลอง สารลาพาคอล(lapacol) ที่สกัดได้จากรากเพกา มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์5-ไลพอกซีจีเนส (5-lipoxygenase) ที่ทำให้เกิดการอักเสบ นอกจากนี้การรับประทานฝักเพกาหรือยอดอ่อนยังสามารถช่วยลดคอเรสเตอรอลในกระแสเลือดได้ ในงานสาธารณสุขมูลฐาน เมล็ดเพกาเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่กำหนดเพื่อใช้บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ โดยนำเมล็ดแก่ ประมาณครึ่งกำมือถึงหนึ่งกำมือ (1.5-3.0 กรัม) ใส่ในหม้อ เติมน้ำ 300 มิลลิลิตร ต้มไฟอ่อนๆ พอเดือดประมาณ 1 ชั่วโมง ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 3 ครั้ง จนอาการไอดีขึ้น

สารเคมีที่พบในเพกา
  • ราก มี D-Galatose, Baicalein, Sitosterols
  • แก่น มี Prunetin, B- sitosterols
  • ใบ มี Aloe emodin
  • เปลือก มี Baicalein, Chrysin, 6-Methylbaicalein